Influencer Marketing : เลือก Influencer อย่างไรให้ปัง และติดตามผลยังไงให้ไม่พัง

ปัจจุบันคงไม่มีใครไม่เคยได้ยินกลยุทธ์การตลาดอย่าง Influencer Marketing เพราะไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ หรือเล็กก็ต่างมุ่งที่จะขยายฐานลูกค้า หรือสร้างความนิยมให้กับสินค้าของตนให้ได้ติดตลาด และเป็นที่พูดถึงในโลกโซเชียล รวมถึงเพิ่มยอดขายให้ได้มากกว่าที่เคย กลยุทธ์ Influencer Marketing ไม่ใช่แค่การสร้างกระแสของแบรนด์สินค้าเพื่อให้ผู้คนพูดถึงในโลกโซเชียลเท่านั้น แต่เพราะวิธีนี้สามารถสร้างยอดขายให้สูงขึ้นอย่างน่าเหลือเชื่อได้จริง นั่นคือเหตุผลหลักว่าทำไมกลยุทธ์การตลาดนี้ถึงเป็นที่นิยม และเติบโตอย่างรวดเร็ว

แต่ไม่ใช่ทุกธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์นี้จะได้ผลดั่งหวังเสมอไป เพราะการเลือก Influencer ให้มาถือสินค้าของเรานั้นไม่ใช่ใครก็ได้ที่แค่มีผู้ติดตามเยอะ แต่ต้องเป็นคนที่มีคุณภาพ และเหมาะสมกับสินค้าของเรา ดังนั้นวิธีการเลือก Influencer ให้กับผลิตภัณฑ์ หรือแบรนด์ถือเป็นกระดุมเม็ดแรกที่สำคัญอย่างมาก เพราะถ้าเราติดกระดุมเม็ดแรกถูกต้อง เม็ดต่อๆไปก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ใครที่จะมาเป็น Influencer ให้กับแบรนด์เรา?

Influencer ของแบรนด์เราจะเป็นใครขึ้นอยู่กับว่าเป้าหมายของธุรกิจคืออะไร เช่น ต้องการสร้าง Brand Awareness เพิ่มความนิยม หรือกระตุ้นยอดขาย? คนที่เราต้องการให้ซื้อสินค้าเป็นใคร? ซึ่งก่อนแบรนด์จะจ้างอินฟลูเอนเซอร์ควรทำความเข้าใจเป้าหมาย และประเมินงบประมาณที่จะใช้ในการลงทุนครั้งนี้ก่อน เพื่อจะได้ไม่เสียเวลา และเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ ต่อมาควรเริ่มต้นด้วยการศึกษา และเลือกปรเภทของอินฟลูเอนเซอร์ที่เหมาะกับสินค้าของตนเอง โดยประเภทของ Influencer มีทั้งหมด 4 แบบ ดังนี้

  1. MEGA INFLUENCER

อินฟลูเอนเซอร์ลักษณะนี้จะมีผู้ติดตามอย่างน้อยหนึ่งล้านคนในทุกๆแฟลตฟอร์มของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นดาราเบอร์ใหญ่อับดับต้นๆ นักกีฬาระดับประเทศ หรือคนที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็จะมีกลุ่มผู้ติดตามเฉพาะที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษในแวดวงนั้นๆ เหมาะกับธุรกิจที่ต้องการสร้างการรับรู้ในวงกว้าง ไม่เน้นยอดขาย และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย หรือแฟนคลับของบุคคลนั้นๆ แต่การจ้างอินฟลูเอนเซอร์ลักษณะนี้มีราคาแพง และสูงมาก รวมถึงยากต่อการนัดเวลา หรือจัดตารางคิว เหมาะกับบริษัทใหญ่ที่มีเงินลงทุนสูง

  • MACRO INFLUENCER

แมคโครอินฟลูเอนเซอร์ไม่ใช่ดาราเบอร์ใหญ่เท่า MEGA แต่ก็ยัง แต่ก็เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือยอดฟอลโล่เทียบได้กับระดับ MEGA เช่นกัน รวมถึงออนไลน์อินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียง และมีอิทธิพลในโลกออนไลน์ เช่น  Youtube หรือ TikTok ข้อดีคือบุคคลเหล่านี้จะมีความเชี่ยวชาญด้านการใช้ Social Media เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แถมยังเทียบเคียงได้กับ MEGA INFLUENCER หรือสามารถใช้แทนในเรื่องของการสร้างการรับรู้ หรือกระตุ้นยอดขายได้เลยก็ว่าได้ ดังนั้นบริษัทไหนที่มีงบ แต่ไม่อยากลงทุนสูงมากขนาดนั้น การเลือก MACRO INFLUENCER ก็เป็นทางเลือกที่ดี อย่างไรก็ตามการนัดเวลา และจัดตารางคิวสำหรับกลุ่มบุคคลระดับนี้ ก็ยังเป็นเรื่องที่ยากอยู่

  • MICRO INFLUENCER

ไมโครอินฟลูเอนเซอร์คืออินฟลูเอนเซอร์ที่มียอดติดตาม หรือยอดฟอลโล่อยู่ในระหว่าง 100,000 – 1,000 คน จุดเด่นอินฟลูเอนเซอร์ประเภทนี้คือมีความเฉพาะ และเป็นเอกลักษณ์ในเรื่องนั้นๆ เช่น เรื่องอาหาร เครื่องสำอาง รถแข่ง เทคโนโลยี จึงสามารถเจาะกลุ่ม (Niche) ในการเข้าถึงลูกค้าที่เป็นเป้าหมายของสินค้าได้มากกว่าอินฟลูเอนเซอร์ระดับใหญ่ๆ MICRO INFLUENCER ยังช่วยในเรื่องของการสร้าง Engagement เช่น ยอดไลค์ ยอดแชร์ ยอดคอมเมนต์ ให้กับสินค้าได้ดีกว่าระดับอื่นๆ อย่างไรก็ตาม Micro influencer คนเดียวยังไม่มีอิทธิพลมากพอที่จะสร้างความอิมแพคได้มากขนาดนั้น ถ้าแบรนด์ไหนเลือกอินฟลูเอนเซอร์ระดับนี้จึงจำเป็นต้องใช้หลายคนเพื่อช่วยกระตุ้นยอดขาย และกระแสการตลาด รวมถึงต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการสร้างยอดขาย เหมาะกับแบรนด์ที่มีงบพอประมาณ เพราะต้องลงทุนเรื่อยๆ

  • NANO INFLUENCERS

นาโนอินฟลูเอนเซอร์คืออินฟลูเอนเซอร์ผู้มียอดฟอลโล่น้อยกว่า 1,000 แต่มีอิทธิพลอย่างมากในพื้นที่ หรือกลุ่มเล็กๆ ตัวอย่างเช่น นักการเมืองท้องถิ่น เจ้าของธุรกิจในท้องถิ่น หรือเจ้าอาวาสในวัดประจำของหมู่บ้านเล็กๆ ก็ถือเป็นผู้ที่มีอิทธิพลที่ใกล้ชิดกับผู้คนในที่นั้นๆ และมีความน่าเชื่อถือสูง nano influencer อาจจะสร้างอิมแพคได้ไม่มาก แถมยังใช้เวลานาน เพราะฉะนั้นผู้ที่เลือกอินฟลูเอนเซอร์ระดับนี้จะต้องมีความอดทนกับผลลัพธ์พอสมควร แต่ก็เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับแบรนด์ที่ต้องการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง และมีงบน้อย หรือบางทีอาจจะไม่ต้องใช้เงินลงทุนเลยก็ได้

จะติดตามผลลัพธ์จาก Influencer ที่เราเลือกได้อย่างไร?

เมื่อมีการลงทุน ก็ต้องมีการติดตามผลลัพธ์ หัวใจสำคัญของ Influencer Marketing คือ Brand Engagement ดังนั้นกลยุทธ์นี้จึงเป็นเป้าหมายของนักการตลาดที่ต้องการเพิ่มยอด Engagement สูงๆ และยอด engagement ที่แหละคือ key metric ที่เราจะใช้วัดความสำเร็จของแคมเปญอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer Campaign) โดยมีดังนี้

  1. จำนวนการคลิกลิงก์ หรือ LINK CLICK

จำนวนการคลิกลิงก์ เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้า เป็นยอดที่สร้าง Engagement ได้ดีที่สุด แต่ไม่ได้การันตีว่าลูกค้าจะซื้อสินค้านั้นๆ ในทางกลับกันก็เป็นการเพิ่มการรับรู้แล้วว่าตอนนี้บริษัทของเรามีสินค้าตัวนี้อยู่

  • คำถาม หรือ QUESTIONS?

เมื่อมีคำถามเกิดขึ้น ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีว่าลูกค้าคนนั้นกำลังสนใจสินค้าของเราอยู่ คราวนี้ก็เป็นโอกาสของแบรนด์ที่จะได้เริ่มพูดคุยกับลูกค้า และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีไปพร้อมๆกัน ยิ่งไปกว่านั้นนี่เป็นโอกาสที่เราจะได้รู้ข้อมูลที่ลึกขึ้นว่าสินค้าของเรามีความสำคัญต่อลูกค้ามากแค่ไหน อะไรที่ทำให้ลูกค้าลังเล และอะไรที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าของเรา

  • คอมเมนต์ หรือ COMMENTS

คอมเมนต์ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าข้อความนั้นจะไม่ได้ส่งมาหาเราโดยตรง แต่เราก็สามารถรู้ได้ว่ากลุ่มเป้าหมายของเรามีความสนใจต่อสินค้าของเรามากแค่ไหนจากคอมเมนต์ใต้โพสของ Influencer ที่เราเลือกมา และยังสามารถตัดสินได้ด้วยว่าอินฟลูเอนเซอร์คนนี้เวิร์คหรือไม่สำหรับสินค้าของเรา เพื่อเป็นตัวเลือกในสินค้าถัดไป และในอนาคต

  • ยอดแชร์ หรือ SHARES

ถ้ามีคนแชร์สินค้าของคุณ นั่นหมายความว่าสินค้าของคุณสามารถสร้างคุณค่าให้กับคนอื่นๆได้อีก ตัวอย่างเช่น ผู้แชร์คิดว่าสินค้านี้เหมาะกับเพื่อนของเขา หรือเป็นสิ่งที่ใครบางคนกำลังตามหาอยู่ หรือพอเห็นภาพสินค้าที่จ้างโพสต์โดยอินฟลูเอนเซอร์ที่ผู้แชร์ติดตามอยู่ ก็ทำให้นึกถึงใครบางคนที่อยากจะซื้อสินค้าตัวนี้พอดี เราจะเห็นได้ว่าบางทีผู้แชร์ก็อาจจะไม่ใช่ผู้ที่ซื้อสินค้าของเราโดยตรง แต่การแชร์ก็สามารถส่งสินค้าของเราต่อไปยังกลุ่มเป้าหมายจริงๆ ที่จะสร้างยอดขายให้กับเราได้

  • ยอดไลค์ หรือ LIKES

บอกตามตรงว่ายอดไลค์แทบจะไม่ได้ช่วยอะไรเลย เพราะยอดไลค์เป็น Metric เดียวที่เราไม่สามารถนำไปต่อยอดอะไรได้ ไม่สามารถเริ่มการพูดคุยได้ ไม่สามารถมีส่วนร่วมใดๆได้เลย ดังนั้นมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเกิดการขาย หรือเพิ่มยอดขายให้กับสินค้า แต่ยอดไลค์ก็ยังเป็นสัญญาณว่ามีคนเห็นสินค้าของเราแล้ว แต่อาจไม่ได้สร้างความรับรู้ได้มากเท่าตัววัดอื่นๆด้านบน

การจะเข้ามาลงทุนในกลยุทธ์ Influencer Marketing อาจมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง แต่ถ้าเรามีเป้าหมายชัดเจน รู้ว่าธุรกิจของเราต้องการอะไร และเลือกรูปแบบของอินฟลูเอนเซอร์ได้เข้ากับสินค้า และเป้าหมายของตนเอง ก็ถือว่าเราติดกระดุมเม็ดแรกสำเร็จไปแล้วหนึ่งเม็ด เพราะฉะนั้นการติดกระดุมเม็ดถัดไปก็จะง่ายขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องใส่ใจก็ได้ การที่ติดกระดุมเม็ดแรกสำเร็จ ไม่ได้เป็นการการันตีว่าเม็ดถัดไปจะไม่พลาด เหมือนกับ Influencer Marketing ถ้าไม่ติดตามผล ไม่ใส่ใจในระหว่างทาง ไม่รักษาความสัมพันธ์ ไม่มีความต่อเนื่อง สุดท้ายกลยุทธ์นี้อาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร