หยุด 7 พฤติกรรมเหล่านี้บน Social Media ถ้าไม่อยากทำร้ายแบรนด์ของคุณ!

หลายๆธุรกิจที่กำลังเกิดใหม่ส่วนใหญ่ใช้ Social media หรือ Social media marketing ในการทำการตลาดในการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ หรือ Brand image และใช้ในการเข้าถึงลูกค้า เพื่อให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก หรือได้รับความนิยม แต่ Social media ก็เปรียบเสมือนดาบสองคม ถ้าใช้ให้ถูกทางก็จะเกิดประโยชน์อย่างมหาสาร แต่ถ้าใช้ในทางที่ผิดเมื่อไหร่ ก็จะกลายเป็นการฆ่าแบรนด์ทางอ้อมทันที

เพื่อป้องกันการทำร้ายแบรนด์ทางอ้อม และผลลัพธ์ที่ไม่พึงปราถนาในอนาคต ธุรกิจที่กำลังจะใช้ Social media marketing ในการทำการตลาด ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำร้ายแบรนด์ ดังนี้

ระวังการโพสต์มุมมองส่วนตัว

เชื่อว่าหลายคนต่างมีมุมมองในเรื่องต่างๆเป็นของตัวเอง แต่การโพสต์มุมมองส่วนตัวภายใต้ชื่อแบรนด์เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งใน Social media เพราะมุมมองของแต่ละคนอาจมีอคติ หรือ  Bias ที่จะทำให้เกิดการแตกแยก ส่งผลต่อมุมมองของลูกค้าที่บางทีอาจไม่ตรงกับผู้โพสต์ สุดท้ายลูกค้าก็จะเกิดความรู้สึกอคติกับแบรนด์เราทันที ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นต่อ Brand image จากนี้ คือแบรนด์จะหมดความน่าเชื่อถือ ส่วนลูกค้าก็หันไปสนใจแบรนด์อื่นแทน เพราะฉะนั้นควรโพสต์สิ่งที่เป็นมุมมองของบริษัท ไม่ใช่มุมมองจากคนๆเดียว

ไม่ใช่ทุกเทรนด์ที่จะเหมาะกับเรา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทรนด์ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้แบรนด์เติบโตได้เร็ว และเป็นที่รู้จักมากขึ้นในชั่วพริบตา แต่ข้อควรระวังคือไม่ใช่ทุกเทรนด์ที่เหมาะกับการสร้างภาพลักษณ์ให้แบรนด์ บางเทรนด์บน Social media ก็อาจไม่เหมาะกับแบรนด์ก็ได้ การจับเทรนด์ที่ไม่เกี่ยวกับแบรนด์ หรือสินค้าเป็นการทำลายภาพลักษณ์แบรนด์อย่างหนึ่ง ทำให้แบรนด์ดูไหลไปตามกระแส และไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นควรเช็คให้ดีก่อนว่าเทรนด์ที่กำลังเป็นกระแสอยู่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ หรือสินค้าจากทางแบรนด์หรือไม่ ไม่อย่างนั้นอาจจะเป็นการทำร้ายแบรนด์ทางอ้อมโดยไม่รู้ตัว

ทุกการสนทนาไม่ได้เหมาะกับเรา

การเข้าไปร่วมสนทนากับผู้คนใน social media อาจสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ให้ดูเป็นมิตร เข้าถึงง่าย แต่ไม่เสมอไป การที่แบรนด์เข้าไปมีส่วนร่วมในการคอมเม้นต์โพสต์ใน social media ที่ผู้โพสต์ไม่ได้กล่าวถึงแบรนด์ หรือโพสต์นั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับแบรนด์เลย มีผลทำให้แบรนด์ดูกลายเป็นตัวตลก ซึ่งไม่ใช่การสร้างเสียงหัวเราะแบบ Humour Marketing แน่ๆ หรือลูกค้าอาจเกิดความรู้สึกรำคาญ เพราะฉะนั้นหากแบรนด์ทำพฤติกรรมเหล่านี้ จะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์แบรนด์อย่างแน่นอน

หลีกเลี่ยงการใช้เรื่องดราม่าในการโปรโมทแบรนด์

ทุกวันนี้หลายๆธุรกิจต่างพากันเข้ามาจับกระแสดราม่า หรือข่าวต่างๆเพื่อโปรโมตแบรนด์ของตน หรือสร้างกำไรจากยอดขายขึ้นมาจากกระแสดราม่าในโลกโซเชียล วิธีนี้ก็นับว่าเป็นดาบสองคมเช่นกัน ถ้าแบรนด์ของคุณจับกระแสดราม่า และใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นไปในทางที่เกิดประโยชน์นอกจากจะเพิ่มยอดขายแล้ว ก็ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดีขึ้นไปอีกด้วย แต่ถ้าแบรนด์ของคุณใช้ข่าวดราม่าแบบไม่สร้างสรรค์ แบรนด์ของคุณจะพบเจอกับ #ดราม่า ซึ่งสามารถทำร้ายแบรนด์ของคุณได้อย่างแน่นอน

หลีกเลี่ยงการพูดถึงทุกข่าว หรือทุกเหตุการณ์

การ take action กับเหตุการณ์เป็นเรื่องที่ดีที่จะประกาศ หรือสร้างจุดยืนให้กับแบรนด์ แต่ทีมควรรู้ว่าเหตุการณ์ไหน เป็นเหตุการณ์ใหญ่ หรือสำคัญจริงๆที่ทางแบรนด์ต้องออกมาพูดถึง หรือเทคแอคชั่นกับเหตุการณ์นั้น การมีส่วนร่วมกับทุกเหตุการณ์ หรือทุกข่าวไม่จำเป็นเสมอไป การที่แบรนด์ออกมาแสดงจุดยืน หรือเทคแอคชั่นกับเหตุการณ์สำคัญ จะส่งผลดีต่อการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ และดึงดูดลูกค้าใหม่ แถมยังรักษาฐานลูกค้าเก่า หรือ Customer loyalty ไว้ได้อย่างดี

ลดแรงกระแทกจาก Feedback เชิงลบ

การเช็ค feedback จากช่องทาง social media รวมถึงการตอบโต้คอมเมนต์ที่กล่าวถึงแบรนด์ในด้านลบเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน ไม่ควรตอบโต้คอมเมนต์ด้วยคำพูดที่ให้ความรู้สึกด้านลบถึงแม้ต้นโพสต์จะใช้คำพูดไม่ดีแค่ไหนก็ตาม การไปโต้ตอบกันด้วยอารมณ์ไม่เคยช่วยให้อะไรดีขึ้น และยังส่งผลลบให้กับแบรนด์อีกด้วย วิธีที่ดีที่สุดคือ การวางแผนกลยุทธ์การโต้ตอบความคิดเห็นด้านลบไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ทีมได้มีแผนในการรับมือกับคอมเมนต์เชิงลบใน social media เป็นการลดแรงกระแทก และลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ลดการโต้ตอบด้วย Robot หรือข้อความอัตโนมัติ

เลี่ยงไม่ได้ว่าธุรกิจเกือบทั้งหมดใช้ Chatbot หรือหุ่นยนต์ (Robot) ในการตอบแชท หรือข้อความปัญหาจากลูกค้า เพราะให้ความสะดวกเวลามีลูกค้าจำนานมากติดต่อเข้ามา และแก้ปัญหาพนักงานไม่พอ หรือตอบไม่ทัน แต่รู้หรือไม่ว่าลูกค้าส่วนมากจะรู้สึกไม่พอใจ หรือโกรธมากยิ่งขึ้นเมื่อแจ้งปัญหาไป แต่ได้รับคำตอบมาจากบอทที่บางทีก็ตอบไม่ตรงคำถาม แทนที่จะมาจากคนจริงๆ สุดท้ายแบรนด์คู่แข่งอาจได้ลูกค้าเพิ่มไปจากแบรนด์ของคุณเอง การใช้คนพูดคุยผ่านปฏิกิริยาระหว่างบุคคล หรือตอบข้อความ เป็นการรับรองความน่าเชื่อถือ และยังแสดงถึงความใส่ใจจากแบรนด์อีกด้วย

หากธุรกิจสามารถลด หรือหยุดพฤติกรรม 7 อย่างเหล่านี้ได้ นอกจากจะไม่ทำร้ายแบรนด์ตัวเองทางอ้อมแล้ว  ยังถือว่าเป็นการใช้ Social media marketing ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แบรนด์สามารถรักษาฐานลูกค้า หรือ Customer loyalty ไว้ได้ และยังสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ หรือ Brand image ให้มีภาพลักษณ์ที่ดี รวมทั้งยังเป็นเครดิตให้กับการขยายธุรกิจในอนาคตอีกด้วย